Horo

ทำไมต้องเชงเม้งฤดูร้อน?


ทำไมต้องเชงเม้งฤดูร้อน?

ทั้งถาม ทั้งบ่น กันมากมายในกลุ่มลูกหลานไทย เชื้อสายจีน ว่าทำไมเราต้อง “เชงเม้งในฤดูร้อน” ทำไมต้องไปไหว้บรรพบุรุษในเดือนมีนา เมษา ซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของปี ที่จริงแล้วเราจะไม่ไปในช่วงเดือนนี้ก็ได้บางคนไม่รู้ แต่บางคนไม่ที่จะไม่กล้าเปลี่ยน และไม่ถามถึงเหตุและผลว่าทำไมต้องไหว้เชงเม้งในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น

“เชงเม้ง” เป็นเทศกาลเยี่ยมสุสานบรรพบุรุษ ปัดกวาด กราบไหว้ ทำความสะอาด ดูแลความเรียบร้อย บ้านหลังสุดท้ายของบรรพบุรุษให้อยู่ในสภาพดี แข็งแรง สวยงาม เป็นการแสดงความกตัญญู และความสามัคคีของคนในตระกูล ซึ่งลูกหลานไทย เชื้อสายจีน ยึดถือเป็นธรรมเนียมถือปฏิบัติ อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ว่าการไปไหว้เชงเม้ง ก็เพื่อไปรับพลังที่ดีจาก ฮวงจุ้ยของบรรพบุรุษที่จะทำให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย

ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องไปเชงเม้งในช่วงฤดูร้อนของทุกปีก็ได้ ตามหลักวิชาฮวงจุ้ยนั้น เรามีช่วงเวลาในการเยี่ยมสุสาน หรือ เชงเม้งถึง 3 ช่วงด้วยกันคือ

  1. ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 4 เมษายน ของทุกปี เราเรียกช่วงนี้ว่า “ฤดูชุนฮุน” ซึ่งตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิของเมืองจีน อากาศอยู่ระหว่าง 14-18 องศา ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับไปเยี่ยมสุสานในช่วงนี้ และบางบ้านถือโอกาสท่องเที่ยวและปิกนิค ไปด้วยในตัว สำหรับเมืองไทยแล้วช่วงเวลานี้จะ ร้อนตับแตก แต่คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมไปเชงเม้งในช่วงนี้ เพราะยึดตามธรรมเนียมเดิมของบรรพบุรุษ และยังเป็นช่วงปิดเทอม ลูกหลานอยู่พร้อมหน้า อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ทุกคนจะไปไหว้ในช่วงนี้เยอะ ทำให้สุสานไม่เปลี่ยวเกินไป  ซึ่งตามหลักวิชาแล้ว ในช่วงเวลานี้ จะไม่เหมาะกับการไหว้สุสานที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
    .
  2. ระหว่างวันที่ 5 – 20 เมษายน ของทุกปี เราเรียกช่วงนี้ว่า “ฤดูเชงเม้ง” เป็นช่วงที่เลยฤดูใบไม้ผลิของเมืองจีนมาเล็กน้อย อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับร้อนจัด ช่วงเวลานี้ก็จะมีบางบ้านที่อยากไปในช่วงเทศกาลเชงเม้ง ตามธรรมเนียมโบราณ ก็จะนิยมไปเยี่ยมสุสานในช่วงนี้  แต่สำหรับเมืองไทยคนเฒ่าคนแก่บางคนก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับหลักการพวกนี้มากนัก ยึดจากปฎิทินจีนเป็นหลักก็เลยบอกลูกหลานว่า “ห้ามไหว้หลังวันที่ 5 เมษายนไปแล้ว เพราะ” เค้าถือ ซึ่งไอ้คำว่า “เค้าถือ” นี่นะครับไม่รู้ว่าถือเรื่องอะไร ไอ้เราก็กลัวเลยไม่กล้าไปไหว้แล้วก็เข้าใจว่าวันที่ 5 เมษา ของทุกปีจะเป็นวันสุดท้ายของการเชงเม้ง ทั้งที่จริงแล้วตามหลักการ พึ่งจะเป็นวันเริ่มต้นเทศกาลต่างหาก (อย่าเชื่อปฎิทินจีนมากนะครับ ปีที่แล้วมันยังพิมพ์ผิดเลย) อีกอย่าง ในช่วงเวลานี้จะตรงกันเทศกาลสงกรานต์ดังนั้นจึงทำให้ไม่ค่อยมีคนไปไหว้มากนัก  ตามหลักวิชาแล้วในช่วงเวลานี้จะไม่เหมาะกับการไหว้สุสานที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ
    .
  3. ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม – 5 มกราคม  ของทุกปี เราเรียกช่วงนี้ว่า “ฤดูตังโจ่ย” ซึ่งเป็นฤดูหนาวของประเทศจีน เค้าไม่ค่อยนิยมไปเยี่ยมสุสานในช่วงนี้เท่าไหร่นักเนื่องจากอากาศหนาวเย็นมาก ไม่เหมาะกับการเดินทางไปเยี่ยมสุสาน ธรรมเนียมโบราณจึงแนะนำให้ใช้วิธีไหว้ขนมบัวลอยสีแดง ในช่วงใกล้สิ้นปีที่บ้านแทน เพื่อเป็นการขอบคุณบรรพบุรุษ และให้ครอบครัวเกิดความรักและสามัคคี แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว ผมว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะเยี่ยมสุสาน อากาศเย็นสบาย ทิวทัศน์สวยงาม ผมเคยถามผู้ใหญ่ว่าแล้วทำไมเราไม่ไปเชงเม้งในช่วงเวลานี้ ก็ได้รับคำตอบว่า “คนไปไหว้น้อย เปลี่ยวเกินไป กลัวโดนจี้ปล้น” แต่ผมว่าที่จริงแล้วเค้าน่าจะกลัวผีกันมากกว่าครับ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวไม่ค่อยมีคนไปไหว้จริงๆ ทำให้สุสานค่อนข้างน่ากลัว ตามหลักวิชาแล้วในช่วงเวลานี้จะไม่เหมาะกับการไหว้สุสานที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรามีทางเลือกในการที่จะไปไหว้เชงเม้งได้ถึง 3 ช่วงเวลาด้วยกัน สำหรับถ้าใครต้องการเปลี่ยนช่วงไหว้เชงเม้งในปีหน้า ผมแนะนำให้ทำดังนี้ครับ

  • ในปีนี้ให้คุณไปไหว้เชงเม้งในช่วงเทศกาลปกติตามช่วงเวลาเดิมก่อน แล้วให้คุณจุดธูปต่างหาก แจ้งกับบรรพบุรุษว่าในปีหน้าเราจะมาเชงเม้งในช่วงเวลาใหม่ ตามแต่ละช่วงที่คุณจะเลือกไป
    .
  • ในกรณีที่คุณเลือกจะไปไหว้ใน “ฤดูตังโจ่ย” ในปีนี้คุณจะต้องไหว้ 2 ครั้ง คือไหว้ในช่วงเชงเม้งปกติ และช่วงสิ้นปีนี้ คุณจะต้องเริ่มไปไหว้ในฤดูตังโจ่ยเลยนะครับ แล้วปีถัดไปคุณก็ไม่ต้องไปไหว้ตอนช่วงร้อนๆอีกแล้วครับ รอลมเย็นๆ ตอนปลายปี แล้วคุณค่อยไปไหว้สุสานในฤดูหนาวของบ้านเราได้เลยครับ

ธรรมเนียม คือความนิยมในการปฎิบัติ ซึ่งจะต้องสะดวกสบายแก่ผู้ปฎิบัติด้วย ถ้าคุณกล้าปรับเปลี่ยนลูกหลานคุณก็กล้าที่จะปรับเปลี่ยนตาม แต่ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครเลิกไหว้เชงเม้งเพราะอากาศร้อนหลอกใช่มั๊ยครับ เพราะปีนึง หนึ่งครั้งที่เราจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษในช่วงนี้ก็เท่านั้นเอง

© 2024 GOTWOGETHER     About | Contact
 
Powered by: Wordpress