Entertainment

การปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการเพลง [ตอนต่อ]


การปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการเพลง [ตอนต่อ]

ตอนก่อนผมเล่าถึงการโปรโมตเพลงไปบ้างแล้ว อย่างที่ทราบกันอยู่ว่าในยุค Digital Music สื่อกระแสหลักที่มีต้นทุนสูงอย่างรายการโทรทัศน์ทางฟรีทีวีไม่ใช่คำตอบของวงการเพลงมากเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป และมีสิ่งที่เข้ามามีบทบาทแทนพอดิบพอดีก็คือ Social Media อย่าง Facebook, Twitter, Instagram และเว็บไซต์ที่ให้บริการดูวิดีโอฟรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง YouTube ทำให้ต้นทุนในการโปรโมตเพลงลดลงไปมากกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว

แต่ชีวิตก็ไม่สวยงามขนาดนั้น เพราะพฤติกรรมของคนฟังเพลงในยุค Digital Music เป็นแบบนี้

วงจรของคนฟังเพลงยุค Digital Download
เมื่อค่ายทำเพลงเสร็จแล้ว –> ค่ายเพลงก็จะเอาไปโปรโมตผ่าน YouTube –> พอเพลงดังคนฟังชอบ –> ก็จะไปหาใน Google –> แล้วก็เสร็จ 4shared, mediafire หรือ BitTorrent จนได้ไฟล์ MP3 –> จากนั้นอยากฟังที่เครื่องไหนก็เอาใส่เครื่องนั้นอีกที

และวิธีการของคนฟังเพลงจะวนเวียนเป็นแบบนี้ทุกครั้ง เรียกว่า “เพลงดัง ฟังฟรี” นั่นเอง ดังนั้นความนิยมหรือที่เรียกกันว่ายอด View บน YouTube จึงไม่ใช่ตัวบอกเลยว่าเพลงๆ นั้นจะมียอดขายดีตามไปด้วย

แถมตอนนี้ยิ่งสะดวกมากขึ้นไปอีก เพราะว่ามีโปรแกรมที่สามารถดาวน์โหลด MP3 จากหน้าของ YouTube ได้เลย ถามว่ามีคนรู้วิธีพวกนี้มากแค่ไหน ผมลองค้นหาคำว่า โหลด mp3 จาก youtube ปรากฎว่ามีผลถึง 3,430,000 รายการ ซึ่งเท่ากับว่าคนที่ต้องการเพลงมีโอกาสจะเข้าไปสู่ช่องทางการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ 3,430,000 ช่องทางเลย

จนถึงตอนนี้คนในวงการเพลงก็มีความคิดแบ่งออกเป็น 2 อย่างชัดเจน

  1. ไม่ควรเอาเพลงใส่ใน YouTube เพราะเหตุผลตามที่เขียนไว้ด้านบน
  2. ต้องเอาเพลงใส่ YouTube ต่อไป เพราะนี่คือช่องทางโปรโมตทางเดียวที่ประหยัดที่สุด

ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องจากโจทย์ข้อนี้ คล้ายๆ กับไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน บางเพลงยอด View เยอะเป็นสิบล้าน แต่ไม่มียอดขาย แต่กับบางเพลงยอด View เยอะเหมือนกัน แต่ยอดขายก็ดีด้วย เช่น ไกลแค่ไหนคือใกล้ จาก Getsunova เป็นต้น

มีสิ่งที่ผมอยากให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าใจอย่างหนึ่งก็คือ “ตอนนี้คนทำเพลง หรือค่ายเพลงในประเทศไทยไม่มีรายได้ใดๆ จาก YouTube” ที่มียอด View เยอะๆ ก็ไม่เคยนำมาผันเป็นจำนวนเงินได้เลย และการที่คนทำเพลงต้องเอาเพลงของตัวเองไปให้ทุกคนได้ดูฟรี หรือฟังฟรีนั้นก็เพื่อต้องการจะโปรโมตให้เพลงมีคนรู้จัก โดยไม่ได้อยากให้เป็นมีดที่ย้อนกลับมาแทงตัวเอง

 

ปัญหาโลกแตกของธุรกิจเพลง 

ความยากลำบากของธุรกิจเพลงในยุค Digital Music ไม่ใช่แค่จะทำยังไงให้เพลงดัง เพราะนั่นก็ยังอยู่ในวิสัยที่พอจะผลักดันกันได้ แต่ความยากลำบากระดับปัญหาโลกแตกเลยสำหรับธุรกิจนี้ก็คือ “ช่องทางการชำระเงิน”

หลายคนคงสงสัยว่ามันจะไปยากอะไร วิธีชำระเงินก็มีอยู่แค่ไม่กี่แบบ

  1. จ่ายเงินสดที่หน้าร้าน – ก็ถ้าจ่ายเงินสดได้ที่หน้าร้าน ก็คงซื้อซีดีเลยดีกว่า ซึ่งตอนนี้ขายแทบไม่ได้อยู่แล้ว
  2. โอนเงินที่ตู้ ATM – จะซื้อเพลง 1 เพลง ต้องรอออกไปโอนเงินที่ตู้ อย่างนี้โหลดบิทดีกว่า
  3. ใช้บัตรเครดิต – ทันสมัย ทันใจ สะดวกที่สุด แต่คนไทยกี่คนที่ใช้บัตรเครดิตบ้าง
  4. บริการชำระเงินต่างๆ – จะมีคนใช้บริการแบบนี้สักกี่คน
  5. ตัดเงินจากค่าบริการมือถือ – สะดวก ทันใจ แทบทุกคนใช้กันอยู่แล้ว

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมค่ายเพลง จึงจับมือ กอดคอค่ายมือถือต่างๆ อย่างเหนียวแน่น

แต่การชำระเงินด้วยวิธีนี้ก็มีปัญหาเหมือนกันคือ ถ้าเมื่อไรลูกค้าดาวน์โหลดเพลงไปแล้ว และค่ายมือถือเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ อาจจะเนื่องมาจากเงินในโทรศัพท์มีไม่พอ ค่ายเพลงก็จะไม่ได้เงินไปด้วย (ประเทศไทยมีคนใช้เบอร์โทรศัพท์แบบใช้บัตรเติมเงินมากถึง 90% เลย) ทำให้บางทีเห็นว่ามียอดดาวน์โหลดเยอะ แต่เก็บเงินจริงๆ จะได้เท่าไรก็ต้องลุ้นเอา

แม้ขณะนี้จะมีช่องทางใหม่อย่าง iTunes เข้ามาก็ตาม แต่กลุ่มลูกค้าก็อยู่ในวงคนใช้ Apple เท่านั้นซึ่งก็แคบมากๆ ซึ่งไม่พอหล่อเลี้ยงธุรกิจได้อยู่ดี

 

การปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการเพลงไทย และอาจเป็นครั้งสุดท้าย

ตั้งหัวข้อซะน่ากลัว แต่ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเหมือนขณะนี้ มันก็อาจจะเป็นแบบนั้นในไม่ช้าก็ได้

ในขณะที่คนในวงการเพลงไทยถกเถียงกันว่าจะเอาเพลงขึ้น หรือไม่เอาขึ้น YouTube ดี หรือมัวแต่กังวลเรื่องเพลงหลุด คล้ายๆ พายเรือในอ่างวนไปวนมา จนลืมไปว่าสิ่งที่ต้องคิดก่อนก็คือ

“ทำยังไงให้เพลงของเรา ไปถึงมือลูกค้าให้เร็วที่สุดก่อนของผีจะไปถึง” 

สมัยก่อนเมื่อค่ายเพลงปล่อยเพลงให้ดาวน์โหลด ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ไฟล์ของเพลงนั้นก็จะไปโผล่อยู่ใน 4shared หรือ mediafire ทันที

ในยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นการพัฒนาของ Digital Music ไปอีกขั้น เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าเร็วมาก จะเห็นว่าหน้าตาของโทรศัพท์ และเครื่องเล่นเพลงต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเยอะ เครื่องเล่นแผ่นซีดีก็ทยอยหายไปจากตลาด วงการเพลงจึงต้องปรับตัวกันอีกครั้งไปสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า “Music Streaming”

 

Music Streaming


เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับระบบ Streaming กันอยู่แล้ว อย่างเช่น YouTube ที่ดูๆ กันอยู่ทุกวันนี่ก็คือระบบ Streaming อย่างหนึ่ง คงไม่ลงลึกในรายละเอียดนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นแบบเรียนไปเสียก่อน

เอาเป็นว่า Music Streaming คือเทคโนโลยีที่สามารถฟังเพลงได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดให้เสร็จก่อนนั่นเอง ข้อดีของมันก็คือ “ค่ายเพลงสามารถปล่อยเพลงให้คนฟังได้ โดยที่ไม่ต้องปล่อยไฟล์ MP3 ให้ดาวน์โหลด” ตรงนี้เองที่จะมาตอบโจทย์เรื่องการทำให้เพลงไปถึงมือคนฟังได้ก่อนของผี

ที่สำคัญอย่างยิ่งเลยก็คือ การโปรโมตเพลง และการขายเพลง กลายเป็นเรื่องเดียวกันแล้วเพราะ เราสามารถใช้ช่องทางนี้ในการโปรโมตได้ด้วย และ “ทุกครั้งที่มีคนฟังเพลง คนทำเพลงก็จะมีรายได้” ซึ่งรายได้ที่มาสู่คนทำเพลงนั้น เจ้าของระบบจะหามาจาก 2 วิธี ก็คือ

1.    ค่าสมาชิกรายเดือน 

  • มีค่าสมาชิก
  • เจ้าของเพลงจะได้ส่วนแบ่งจากค่าสมาชิก
  • จะสามารถฟังได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ และบนโทรศัพท์มือถือ

2.    ค่าโฆษณา 

  • สมาชิกฟังฟรี
  • เจ้าของเพลงจะได้ส่วนแบ่งจากโฆษณา
  • จะสามารถฟังได้เฉพาะบนคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากต้องการฟังบนโทรศัพท์มือถือด้วย จะต้องชำระค่าสมาชิกรายเดือน

ซึ่งแน่นอนว่าแบบที่สมาชิกได้ฟังฟรีย่อมได้รับความนิยมมากกว่าแน่นอน แต่ถึงแม้จะเป็นการฟังฟรี (โดยมีส่วนแบ่งค่าโฆษณามาช่วยนิดหน่อย) ถ้ามองในมุมโปรโมตก็ถือว่าตอบโจทย์ได้ แถมยังเป็นการฟังเพลงในช่องทางที่ถูกต้องอีกด้วย ซึ่งเมื่อคนฟังพร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อนิดหน่อยก็สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาข้ามระบบไปมาให้วุ่นวาย

บางคนอาจจะบอกว่า “ไม่เห็นดีเลย ต้องต่อ Internet ฟังตลอดเวลา” ใช่ครับ ระบบ Streaming ต้องต่อ Internet แต่ไม่จำเป็นต้องต่อตลอดเวลา ผู้ฟังจะต้องต่อ Internet เมื่อต้องการหาเพลงใหม่ หรือจัดเรียงเพลงใหม่ แต่ถ้าไม่ต้องการต่อ Internet ทั้ง DEEZER หรือ Spotify เองเขาจะมีระบบ Offline Mode ทำให้ผู้ฟังนำเพลงไปฟังที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมีสัญญาณ Internet หรือไม่ คล้ายๆ กับการดาวน์โหลด MP3 ลงเครื่องนั่นเอง

ในต่างประเทศการให้บริการ Music Streaming แบบนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก คนฝรั่งเศสเองก็ใช้ DEEZER จนแทบจะเลิกฟังเพลงด้วยแผ่นซีดีไปแล้ว หรืออย่าง เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เคยให้สัมภาษณ์ถึง Spotify ไว้ว่า

“I have Spotify — it’s fantastic, 15 million songs on it: Sinatra, Nat King Cole, Patsy Cline, Willie Nelson, that kind of stuff.”

ส่วนในประเทศไทยจะเป็นยังไงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจ และจริงจังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ในการทำให้ Music Streaming เกิดให้ได้ เพื่อที่คนทำเพลง จะได้กลับมาทำเพลงเพื่อขายเพลงจริงๆ อีกครั้งหนึ่ง

สุดท้ายนี้อย่าไปคาดหวังว่า Music Streaming จะทำให้การละเมิดเพลงหมดไป เชื่อผมเถิดการละเมิดยังคงมีต่อไป และเป็นแบบนี้ทั้งโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย “Music Streaming แค่มาเติมเต็มช่องว่างที่จะส่งเพลงไปถึงคนฟังให้เร็วที่สุด ให้คนฟังเพลงสะดวกที่สุด และอยู่ในระบบที่ถูกต้อง”

และตอนนี้อยู่ที่คนฟังเพลงด้วย ถ้าจ้องแต่จะฟรีอย่างเดียว ก็เตรียมบ๋ายบายกันได้เลย

ขอบคุณพี่ๆ ในวงการเพลงทุกท่าน ผมเอาสิ่งที่พี่ๆ บ่น และเก็บเอาไว้ในใจมาเขียนให้แล้ว อย่างไรก็ตามหวังว่าจะมีเรี่ยวแรงทำเพลงไทย ให้คนไทยฟังกันต่อไป… และขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านครับ 

 

อ่าน การปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการเพลง [ตอนต้น]

 

ภาพประกอบจากwallpoper.com

© 2024 GOTWOGETHER     About | Contact
 
Powered by: Wordpress